ใครว่าเรื่องปรัชญาโตเกินไปสำหรับเด็ก เมื่อดิฉันได้อ่านหนังสือ
“สอนให้คิดด้วยตรรกะและปัญญา” โดยนักเขียนชาวเกาหลี ชื่อ Lim, Byung-Gab
ซึ่งเขียนคำโปรยไว้อย่างน่าสนใจว่า “รวมเรื่องสั้นปรัชญาที่ไม่มีปรัชญา
พัฒนาความคิดสู่ Active Citizen แถวหน้าของโลก” ยิ่งตอกย้ำว่าเรื่องปรัชญา
หรืออย่างน้อยก็คือ การฝึกเด็ก ๆ ให้คิดเกี่ยวกับเรื่องที่คิด
เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ก่อนจะเล่าให้ฟังถึงรายละเอียด ขอข้ามทวีปไปที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงิน
(Tubingen) ประเทศเยอรมนี รู้ไหมคะว่า ที่นี่เปิดโอกาสให้เด็กอายุ 8-12
ขวบเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยได้ เรียกว่า มหาวิทยาลัยเด็ก
เป็นโครงการพิเศษในช่วยปิดเทอมฤดูร้อน ให้เด็ก ๆ
เข้าไปฟังบรรยายจากอาจารย์ระดับศาสตราจารย์ เด็ก ๆ จะได้ทั้งบัตรนักเรียน
มีหนังสือ และสามารถฟังบรรยายในหัวข้อที่ตัวเองสนใจได้ เช่น
ทำไมไดโนเสาร์จึงสูญพันธ์ ทำไมมนุษย์ต้องตาย และทำไมรูปสลักของกรีกจึงต้องเปลือย
ฟังดูลุ่มลึกใช่ไหมคะ ดิฉันลองอ่านเนื้อหาที่พูดกันในหนังสือ
“มหาวิทยาลัยเด็ก” โดย Ulrich Janben และ Ulla Steuernagel
โดยในเฉพาะในบท “ทำไมจึงมีทั้งเศรษฐีและยาจก” ทำให้ดิฉันคิดว่า
นี่คือหัวข้อสนทนาของผู้ใหญ่นี่นา
แต่ผู้ใหญ่อย่างดิฉันยังไม่เคยนั่งถกประเด็นนี้กับเพื่อน ๆ เลย อาจเคยคิดกับตัวเอง
แต่ก็ไม่เคยสำรวจความคิดแบบลงรายละเอียดแม้กับตัวเอง ดิฉันจึงคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ประเสริฐมากที่ประเด็นหนัก
ๆ และเป็นความจริงที่น่าเศร้า ถูกยกมาถกเถียงกันในมุมมองบริสุทธิ์ของเด็ก ๆ
แต่ยังอยู่ภายใต้การกำกับโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย ในหนังสือตั้งคำถามว่า
อะไรคือเกณฑ์ที่บอกว่าคนนี้รวยหรือจน คนจนในประเทศหนึ่งจะถือว่าจนในอีกประเทศหนึ่งหรือไม่
หากมีเกมบอยเล่นถือว่าเป็นคนรวยไหม ทำไมประเทศที่จนในอดีตถึงร่ำรวยในปัจจุบัน
และอีกมากมาย
ไม่ใช่เพียงนักเรียนที่ตื่นเต้นนะคะ
แต่บรรดาอาจารย์รุ่นเก๋าตื่นเต้นยิ่งกว่า เรียกว่าตื่นเวทีขึ้นมาทีเดียว
เพราะจะถ่ายทอดความคิดออกมาอย่างไรให้เด็กสนใจและเข้าใจ บางคนสารภาพว่าไปเหมาช๊อกโกแล๊ตมาหมดซุปเปอร์มาร์เก็ต
เพื่อแจกให้กับเด็ก ๆ ระหว่างฟังด้วยนะคะ
แล้วเกี่ยวกับเรื่อง “สอนให้คิดด้วยตรรกะและปัญญา” อย่างไรล่ะคะ มันสำคัญมากที่จะต้องปลูกฝังให้เด็ก
ๆ รู้จักตั้งคำถาม
ในบทแรก ผู้เขียนตั้งคำถามว่า เราใช้อะไรมอง
ทำไมคนเรามองสิ่งเดียวกันแต่เห็นแตกต่างกัน ซึ่งในบทสรุปเนื้อหาสำหรับครูและผู้ปกครอง
ผู้เขียนชี้แจงว่า “เราไม่ได้มองโลกด้วยตา
เพราะสิ่งที่เห็นจะถูกแทรกด้วยความคิด
ดังนั้นถึงแม้จะมองสิ่งที่มีลักษณะทางกายภาพเหมือนกัน
แต่สิ่งที่เห็นจะแตกต่างกันตามความรู้”
ฟังดูเหมือนจับต้องไม่ได้นะคะ แต่สำคัญมากค่ะ
ในโลกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลง
ผู้คนมักมีประเด็นซ้อนเร้นที่สอดแทรกมาในการสื่อสาร เด็ก ๆ ต้องรู้ตัวว่า เขากำลังเรียนรู้อะไร
เขาคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เรื่องที่เขาคิดว่าถูกต้องนั้นถูกต้องสำหรับทุกคนหรือไม่
เรื่องนี้เป็นจริงตามที่ได้ยินหรือได้เห็นหรือไม่
หรือสิ่งที่เขาเข้าใจถูกบิดเบือนไปด้วยประสบการณ์เดิมของเขา
เพราะฉะนั้น ในขณะที่เราส่งเสริมให้เด็ก ๆ ตั้งคำถาม
สนทนาในเรื่องที่สนใจกับผู้อื่น เราก็ต้องให้เครื่องมือในการเรียนรู้ด้วยค่ะ
สมัยที่ดิฉันเรียนมัธยมปลายที่ รร.นานาชาติดัลลิช ภูเก็ต (ปัจจุบันชื่อ
รร.นานาชาติบริติช) พวกเราต้องเรียนวิชา Theory of Knowledge
คือทฏษฎีเรื่องความรู้ ซึ่งเป็นวิชาที่เปิดประเด็นสังคมมากมายให้ถกกัน ทำให้รู้ว่ามีคนที่คิดแตกต่าง
พิสดาร มากมายเหลือเกิน ซึ่งยากที่จะตอบว่าใครคิดผิดหรือถูก
บางคนบอกว่า ทำไมถึงซีเรียสจัง บางครั้งก็ต้องหยุดคิดบ้างนะคะ
มันก็จริงนะคะ แต่ดิฉันคิดว่าในสมัยนี้ คนส่วนมากจะไม่ค่อยได้คิดอะไรน่ะสิคะ
ดิฉันขอหยิบยกคำนำของหนังสือ “เรื่องสั้นสนุกสอน CQ คิดดีคิดเก่ง” มาอ้างอิงนะคะ “เพื่อนคนหนึ่งถามเซอร์ไอแซค นิวตันว่า “นายค้นพบกฏของแรงโน้มถ่วงได้อย่างไร”
เขาตอบกลับไปว่า “เพราะฉันคิดถึงเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลาน่ะสิ” นั่นล่ะ!
ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เริ่มต้นง่าย ๆ แค่การครุ่นคิดถึงเรื่องต่าง ๆ นี้เอง”
ข้ามมาที่มหาวิทยาลัยเด็กอีกครั้งนะคะ จากการบรรยายสนุก ๆ 8 ครั้งที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงิงในปี
ค.ศ. 2003 จนออกมาเป็นหนังสือ “มหาวิทยาลัยเด็ก เล่ม 1”
ก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้มหาวิทยาลัยอีกกว่า 30
แห่งในประเทศเยอรมนี และอีกมากมายในอิตาลี ออสเตรีย นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ จีน
ตอนนี้ สสวท. และ สวทช. ก็ได้นำโครงการนี้มาในประเทศไทยแล้วนะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น