วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

BETT Show 2014

สวัสดีจากลอนดอนค่ะ ตอนนี้ดิฉันอยู่ในงาน BETT Show ที่ประเทศอังกฤษ งานนี้เป็นงานแสดงเทคโนโลยีการเรียนการสอน มีทั้ง hardware และ software ภายในประเภท software มีทั้ง content (เนื้อหา) และระบบจัดการการเรียนรู้และระบบบริหารโรงเรียนค่ะ

ดิฉันขอขอบคุณ UK Trade & Investment (UKTI) และสถานทูตอังกฤษที่เชิญนานมีบุ๊คส์ไปร่วมงานนี้นะคะ การมาครั้งนี้ทำให้ดิฉันประทับใจรัฐบาลอังกฤษมาก ที่สวมบทบาทอำนวยความสะดวกให้เกิดการค้าระหว่างประเทศในทุกอุตสาหกรรม นอกจากดิฉันจะได้มาดูงานแล้ว UKTI ยังมีบริการจับคู่ธุรกิจด้วยค่ะ ก่อนอื่นดิฉันต้องบอก UKTI ก่อนว่าดิฉันอยากหา นวัตกรรมหรือสินค้าอะไรมาขาย (หรือต้องการขายอะไร) จากนั้น UKTI ก็จะไปศึกษาและจับคู่บริษัทอังกฤษให้กับดิฉันค่ะ นอกจากประเทศไทย ยังมีตัวแทนมาจากหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฝรั่งเศส อาร์เจนติน่า และอีกมากมายค่ะ ความจริงแล้ว การที่ดิฉันมาเริ่มทำ Maths-Whizz ในประเทศไทยได้ก็เป็นเพราะ “บริการจับคู่” ของ UKTI นั่นแหละค่ะ

ดิฉันดีใจมากที่ได้ไปงาน BETT Show เพราะทำให้เห็นว่า ถึงแม้ประเทศอังกฤษจะเป็นพี่ใหญ่ในระบบการศึกษา ตอนนี้อังกฤษตื่นตัวมากที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้แข่งขันในตลาดนานาชาติได้ ถึงขนาดส่งทีมจากกระทรวงศึกษาไปดูงานในประเทศที่ได้อันดับต้น ๆ ในการประเมิน PISA เช่น ฟินแลนด์ สิงคโปร์ และเซี่ยงไฮ้ ในปีการศึกษา 2014 นี้ ประเทศอังกฤษก็จะมีการเปลี่ยนหลักสูตรครั้งใหญ่เพราะรับมือกับเรื่องนี้ ดีไม่ดีไม่รู้นะคะ เพราะมีบางเสียงแว่วมาว่าหลายโรงเรียนก็จะ (แอบ) ไม่เปลี่ยน เพราปีหน้าก็จะเลือกตั้งแล้ว หากอีกพรรคการเมืองเข้ามาเป็นรัฐบาล อาจมีการเปลี่ยนอีกครั้ง

ประเด็นสำคัญ คือ ตอนนี้ทุกประเทศไม่สามารถหยุดนิ่งได้อีกแล้ว! ต้องพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ขอยกตัวอย่างวิชาคอมพิวเตอร์นะคะ ในอดีต (รวมถึงตอนนี้ด้วย) เด็กอังกฤษจะได้เรียนวิชา ICT (Information Communication Technology) ส่วนมากก็เรียนใช้โปรแกรมนั่นแหละค่ะ แต่ในหลักสูตรใหม่ วิชานี้จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Computing คือ แทนที่จะสอนให้นักเรียนเรียนใช้โปรแกรม (ในฐานะเป็น end user) นักเรียนจะต้องเรียนเขียนโปรแกรม คือ ต้องเข้าใจพื้นฐานว่า กว่าโปรแกรมจะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องเขียนโค้ดอย่างไร

เรื่องนี้ทำให้ดิฉันคิดว่า ถึงแม้ว่าการศึกษาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดคือ “วิธีการ” ดิฉันมีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียนดรุณสิกขาลัยของ อ. พารณ อิศรเสนา ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนเขียนโปรแกรมเอง โดยใช้โปรแกรม Scratch ซึ่งก็เป็นแนวทางของวิชา Computing ค่ะ คือ เด็กต้องรู้จัก construct ความรู้เองได้ ตอนนี้หมดยุคของการเป็นเพียงแค่ผู้บริโภคอีกแล้ว แต่เด็กต้องเข้าใจกระบวนการว่า “มันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร” ซึ่งทำให้ดิฉันชื้นใจนะคะ เพราะดิฉันเชื่อเรื่อง Back to Basic ค่ะ

ในงาน BETT Show ดิฉันเห็นโปรแกรม e-learning หลายตัว สีสันสวยงาม ดูน่าใช้ และมีหลายบริษัทเหลือเกินที่ทำเรื่องนี้ หลายแห่งก็ตกแต่งบู๊ทอย่างอลังการณ์ แต่การไปดูงานครั้งนี้ทำให้ดิฉันสะดุดกึกว่า ก่อนจะซื้ออะไร ต้องศึกษาอย่างถ่องแท้มาก ๆ เพราะในเรื่องการศึกษา การที่บริษัทจะทำแอนิเมชั่นหรือ app เจ๋ง ๆ ไม่ยาก การจับ content ดี ๆ มาใส่ไม่ยาก แต่จะนำเสนอให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยกระบวนการอะไรและอย่างไรนั่นแหละถึงยาก และจะทำให้ครูนำมาใช้ในห้องเรียนจริง บูรณาการกับการเรียนรู้แบบอื่นได้อย่างไรนี่แหละค่ะยาก

แต่ยังดีนะคะ มีหลายบริษัทที่มีเจ้าของหรือผู้บริหารเป็นครู เพราะฉะนั้นเขาจะเข้าใจ บริษัทเหล่านี้ก็จะเขียนแผนการสอนแบบบูรณาการ เพื่อให้ครูใช้เทคโนโลยีประกอบการเรียนการสอน เพราะสุดท้ายเราต้องตอบโจทย์ที่ว่า เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน มีบริษัทหนึ่งจากเดนมาร์กที่ขายระบบจอที่ฉายลงไปที่พื้น มองเผิน ๆ เขาขาย hardware แต่พอเจาะลึกก็จะพบว่า เขากำลังขายระบบการเรียนรู้แบบ Kinesthetic Learning คือการเรียนรู้ด้วยการเคลื่อนไหว น่าสนใจมากค่ะ

ครั้งนี้ มีคณะผู้บริหารจากกระทรวงศึกษาของประเทศเวียดนาม เขาบอกว่าเขามาทุกปี มาหานวัตกรรมใหม่ ๆ และยังแนะนำงานแสดงสินค้าด้านการศึกษาที่ประเทศอื่น ๆ ให้ดิฉันไปด้วย พอดิฉันถามว่าแล้วเขาซื้อตรงกับอังกฤษเลยหรือ เขาบอกว่าไม่ เขาซื้อกับบริษัทในเวียดนามค่ะ

เรื่องนี้สะท้อนให้ดิฉันคิดว่า มันจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษามาเปิดหูเปิดตาในงานแบบนี้ เพื่อให้เห็น trend ของประเทศอื่น ๆ เพื่อกำหนดกรอบ framework ว่าต้องการให้นักเรียนเรียนรู้อะไร และอาจมีทางเลือกถึงวิธีการเรียนรู้ต่าง ๆ จากนั้นก็เปิดตลาดเสรีให้บริษัทเอกชนลงทุน ไม่ว่าจะพัฒนาเอง หรือซื้อเขามาขาย เพื่อนำเสนอให้โรงเรียนได้เลือกเอง ดังเช่นที่ประเทศอังกฤษจัดงาน BETT Show ขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อให้เกิดการซื้อขายระหว่างประเทศเป็นหลักนะคะ เป้าหมายหลัก คือ เพื่อให้โรงเรียนมาเลือกซื้อนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่แต่ละโรงเรียนชอบค่ะ

หากผู้บริหารกระทรวงไม่มา เวลาบริษัทเอกชนอย่างพวกเราไปนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ เขาจะเข้าใจได้อย่างไร! ครั้งนี้ดิฉันได้พูดคุยกับหลายบริษัทในอังกฤษที่ได้เอานวัตกรรมของเขาไปลงในประเทศต่าง ๆ ผ่านการคุยกับรัฐบาลแล้วนะคะ เช่น Maths-Whizz ก็ขายให้รัฐบาลรัสเซีย Planet Sherston ก็ขายให้รัฐบาลมัลตา Little Bridge ก็ขายให้รัฐบาลชิลี เป็นต้น

 ดิฉันจึงคิดว่าจะไปเสนอให้ UKTI เชิญผู้ใหญ่ในกระทรวงเรามางานนี้ (หรืองานอื่น) ในปีหน้าดีกว่า และหาก UKTI จัดนะคะ เขาจะนัดให้เจอบริษัทต่าง ๆ ทั้งวัน ห้ามหนีเที่ยวเลยค่ะ
นี่ก็คือควันหลงของงาน BETT Show มาฝากท่านผู้อ่านในประเทศไทยค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น