วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

สอนให้เด็กรักธรรมชาติ

สอนให้เด็กรักธรรมชาติ
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com

เดือนที่แล้ว ดิฉันและคุณแม่ไปเที่ยวอุทยานที่นิกโก้ ประเทศญี่ปุ่น เดินกันยาวนานถึงแปดชั่วโมง ผ่านน้ำตก 4 สาย ป่าสน หนองบึง สู่ทะเลสาบ ต้องยกมือให้การท่องเที่ยวของเขาที่อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวอย่างดี ทั้งครอบครัวที่มีลูกเล็กจนถึงสองตายาย ทั้งการทำแผนที่ ทำทางเดินที่สะดวก ที่สำคัญ ไม่ทำลายธรรมชาติ ต้นไม้ที่ล้มจะไม่ถูกเคลื่อน ยกเว้นขวางทางเดิน บางช่วงเมื่อเหลียวมองข้างทาง จะเห็นรากไม้สวยตระหง่านตั้งมุมฉากกับพื้น

ดิฉันประทับใจพ่อแม่ที่พาลูก ๆ มาเที่ยว ถึงแม้ว่าฝนจะตก ทุกคนก็ใส่เสื้อกันฝนค่อย ๆ เดินอย่างสบายใจ เด็ก ๆ ตื่นตาตื่นใจมาก หยุดชี้และตั้งคำถามกับทุกสิ่ง ตั้งแต่ใบไม้ แมลง ดอกไม้ หรือสาหร่ายที่ถูกดึงตามสายน้ำ ดิฉันเองยังสงสัยมากว่า น้ำแรงขนาดนั้น ทำไมสาหร่ายจึงไม่ขาด ธรรมชาติแสนลี้ลับและพิศวง จะปลูกฝังให้เด็ก ๆ รักธรรมชาติ ต้องออกมาเจอของจริงค่ะ
นอกจากไปสัมผัสของจริง หนังสือยังเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นยอด ทีมงานของดิฉันจัดพิมพ์หนังสือ “นิทานวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กช่างสงสัย” มี 6 หมวดใหญ่ คอนเซ็ปของหนังสือต้องการ “ชักชวนให้เด็ก ๆ มาเริ่มทำความรู้จักวิทยาศาสตร์ผ่านนิทานแสนสนุก อธิบายหลักการวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีง่าย ๆ อาศัยเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่เด็กพบเห็นจริง พร้อมกิจกรรมท้ายเล่มให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ”
การใช้นิทานเป็นเครื่องมือจุดประกายเป็นสิ่งสำคัญมากนะคะ ดิฉันอยากชวนคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือให้ลูก ๆ ฟังทุกคืน ถึงแม้ว่าลูกจะโตเกินกว่าจะอ่านนิทาน อ่านเปลี่ยนเป็นอ่านวรรณกรรมเยาวชนให้ลูกฟังก็ได้ แล้วจะสลับให้ลูกอ่านให้เราฟังก็ได้ค่ะ
สิ่งที่ต้องการ คือ เรื่องราวในนิทานหรือวรรณกรรมจะกระตุกต่อมเอ๊ะให้รู้สึกสงสัยในสิ่งที่เกิดขึ้น จนเด็ก ๆ ต้องไปค้นคว้าหาความรู้ต่อว่ามันเป็นแบบนั้นได้อย่างไร ซึ่งอาจไปสืบเสาะจากของจริงในสวนหลังบ้าน สวนสาธารณะ อุทยานแห่งชาติ หรือผ่านหนังสือแนวเสริมความรู้ สารานุกรม การ์ตูนความรู้เป็นต้น หากจะต่อยอด เมื่อไปค้นความรู้เสร็จ อาจสงสัยต่อว่ามันจริงอย่างที่หนังสือพูดหรือเปล่า ก็ต้องพิสูจน์ด้วยการทดลองค่ะ
สุดสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันและเพื่อน ๆ ไปเที่ยวภูหินร่องกล้า มีโอกาสเห็นลานหินปุ่มและลานหินแตก รู้สึกตื่นตาตื่นใจ ได้เห็นปรากฏการณ์ธรนีวิทยาที่เคยเรียนในวิชาภูมิศาสตร์ด้วยตาของตัวเอง ก่อนหน้านี้เคยเห็นแต่ในหนังสือ เลยอยากบอกทุกคนว่า หากอยากเห็นพื้นหินจากมหาสมุทรที่ถูกดันขึ้นมาเป็นภูเขา ให้มาดูที่นี่ เมื่อเห็นของจริง จะเรียนเข้าใจและสนุกมากขึ้นไปอีก
ยังไม่พอ เราไปต่อกันที่ภูทับเบิก เห็นทะเลหมอกที่สวยงาม ดิฉันตั้งคำถามว่า หมอกกับเมฆเหมือนกันหรือเปล่า แต่ละคนก็มีคำตอบต่างกัน ความขัดแย้งทางความคิดหรือความเข้าใจแบบนี้แหละค่ะที่จะเป็นตัวผลักดันของการเรียนรู้ชั้นดี กลับมาบ้านต้องรีบมาหาคำตอบในหนังสือ ก็มาเจอคำตอบในหนังสือ “สารานุกรมทำไม เฉลยสารพันข้อสงสัยที่คาใจเด็ก ๆ” โดย Choi, Hyang-Suk พอดี เพราะฉะนั้น หากเราอยากให้เด็ก ๆ (หรือแม้ผู้ใหญ่) กระหายเรียนรู้อย่างไร ต้องพาไปเจอปรากฏการณ์แปลกใหม่ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนมาก ๆ แล้วชวนคุยต่อ เห็นอะไร เพราะอะไร คิดอย่างไร เป็นต้น อยากให้เด็ก ๆ ชื่นชมธรรมชาติอย่างไร ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก


ขอปิดท้ายด้วยบทส่งท้ายของหนังสือ “สิ่งมีชีวิตในป่า” โดย Tatsuhide Matsuoka “ป่าดงดิบของโลกเรานี้ได้ถูกทำลายลง ทำให้พื้นที่ลดลงอย่างรวดเร็วถึง 170,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี (1 ใน 3 ของประเทศไทย) ซึ่งแน่นอน พรรณสัตว์ พืชนานาชนิดที่เคยมีอยู่ก็สูญสิ้นไปก่อนที่มนุษย์จะได้รู้จักพบเห็นอีก การสูญเสียนี้มีได้เพียงครั้งเดียว เพราะจะไม่มีการเกิดขึ้นทดแทนได้อีก ... หนังสือภาพนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจสิ่งมีชีวิตบนโลก แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี และหากป่าดงดิบยังคงอยู่ ความฝันที่มนุษย์จะได้พบสิ่งมีชีวิตและความรู้ใหม่ ๆ ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม”