วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เที่ยวอาสา ณ Elephant Nature Park



ตั้งแต่เปิดตัวหนังสือ “บันทึกของลูกช้าง” ของคุณหนูนา กัญจนา ศิลปอาชา เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดิฉันนึกอยากมาเยี่ยม คุณเล็ก แสงเดือน ชัยเลิศ ผู้ก่อตั้งศูนย์บริบาลช้าง Elephant Nature Park (ต้นตอของเรื่องในหนังสือ) มาตลอด เพราะอยากรู้จริง ๆ ว่าอะไรผลักดันให้หญิงเหล็กคนนี้ช่วยเหลือช้างไทยมากกว่า 200 ตัว และหากนักท่องเที่ยวไม่ควรสนับสนุนการขี่ช้าง ดูโชว์ช้าง หรือซื้ออ้อยให้ช้างกินบนท้องถนนในกรุงเทพฯ (อ่านความจริงแสนทารุณที่ช้างพวกนี้ต้องเจอได้ในหนังสือ “บันทึกของลูกช้าง”) เราจะสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยและเชยชมความน่ารักของช้างได้อย่างไร

นอกจากจะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวมาเยือนแบบวันเดียวและค้างคืนแล้ว ที่นี่ยังเปิดโอกาสให้มา “เที่ยวอาสา” ด้วย ส่วนมากอาสาสมัครจะมาอยู่ที่นี่หนึ่งสัปดาห์ ดิฉันได้มีโอกาสคุยกับ Holly Wilson สาวน้อยวัย 23 จากแคลิฟอร์เนีย เธอฝันที่จะท่องเที่ยวและทำงานอาสาสมัครไปพร้อมกัน

“อาสาสมัครส่วนมากมาจากอังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลีย พวกเราจะถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 10 คน ทุกเช้าตื่นหกโมง ทานข้าวเจ็ดโมง ทำงานสองกะ กะเช้าเริ่มแปดโมง กะบ่ายเริ่มบ่ายโมง กะละประมาณ 3 ชั่วโมง เวียนงานไปเรื่อย ๆ งานที่ทำอาจไม่ได้อยู่กับช้างโดยตรง แต่เป็นงานที่จะช่วยให้ช้างอยู่สบายและทำให้ศูนย์ฯ ดำเนินงานได้ ได้แก่ ทำความสะอาดที่นอนของช้าง คือ เก็บอึและอาหารที่เหลือให้ที่นอนสะอาด เตรียมอาหารช้าง เช่น เอาแตงโมออกจากหลังรถ (เยอะมาก ซื้อทีละสี่ตัน เพราะช้างกินเยอะมากถึง 10% ของน้ำหนักตัว) ล้างให้สะอาด ไม่ให้มีสารเคมีตกค้าง หรือไม่ก็ไปตัดอ้อยหรือข้าวโพด” Holly บอกว่าตัดอ้อยยากหน่อย เพราะมีหนามแหลม ต้องใส่ถุงมือ ตัดข้าวโพดจะง่ายกว่า แต่ใครได้เวรตัดข้าวโพด ต้องไปทั้งวัน เพราะต้องนั่งรถออกไปประมาณหนึ่งชั่วโมง



“ฉันมีความสุขมากที่ได้มาที่นี่ นอกจากทำงานแล้ว ฉันยังได้ไปเดินเล่นกับช้าง เดินทีสามชั่วโมง ได้เจอช้างมากกว่ายี่สิบตัว แล้วไกด์ก็ให้ความรู้และเล่าประวัติช้างแต่ละตัวอย่างรู้จริง ตัวไหนไปช่วยมาจากคณะละครสัตว์ ตัวไหนถูกเจ้าของเดิมทำให้ตาบอด ก่อนฉันมาที่นี่ ฉันท่องเที่ยวไปทั่วประเทศไทย พักที่ฮอลเท็ล บรรยากาศก็จะโกลาหลหน่อย มีฉากปาร์ตี้เยอะ แต่ที่นี่ เราอยู่ท่างกลางป่าเขาลำเนาไหน สวยงามมาก”

“ฉันประทับใจทีมงานที่ทำงานอย่างตั้งใจจริง เช่น เวลาพวกเราปั้นข้าวเป็นลูกกลม ๆ ให้ช้าง ทีมงานจะตรวจละเอียดว่าพวกเราปั้นก้อนเท่ากันตามมาตรฐานไหม เพราะหากไม่เท่า ช้างจะรู้สึกไม่ยุติธรรม อาจมีน้อยใจหรืออิจฉาได้ ช้างก็จะเคืองกันและอิจฉากัน คือใส่ใจลงรายละเอียดจริง ๆ และตอนนี้ที่นี่ไม่ได้ช่วยแค่ช้าง แต่มีช่วยเหลือสุนัขจรจัดจากตอนที่กรุงเทพฯ น้ำท่วมหลายปีก่อนด้วย ตอนนี้มีสุนัขกว่า 400 ตัว”

ดิฉันถามคุณเล็กถึงที่มาของโครงการอาสาสมัคร “องค์กรที่ทำงานเรื่องสัตว์ส่วนมากเน้นรับการสนับสนุนเป็นเงิน แต่โครงการอาสาสมัครจะช่วยสร้างความยั่งยืน เพราะพี่คิดว่าเป็นการให้การศึกษา เป็นเหมือนพลังขับเคลื่อนที่จะส่งต่อสารไปในวงกว้าง เพราะเราได้เปิดใจให้พวกเขาเข้าใจเรื่องช้าง คนกลุ่มนี้จะมีพลังนำข้อมูลและความประทับใจไปสื่อสารให้เพื่อนต่อได้”

ดิฉันเห็นถึงความสำคัญของการอาสา ช่วงเวลาที่เราได้ทำประโยชน์ เราภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของตัวเอง ช่วงเวลาที่เราได้ปฏิสัมพันธ์กับ “ชุมชน” และกับเพื่อนอาสาสมัครต่างถิ่น เราได้เปิดโลกทัศน์ แลกเปลี่ยนมุมมองชีวิต ตอนนี้เวลาสัมภาษณ์พนักงานใหม่ก็จะพิจารณาคนที่เคยออกค่ายมากเป็นพิเศษ

ลองไปเที่ยวอาสา (หรือเที่ยวเฉย ๆ ) ที่ศูนย์บริบาลช้าง Elephant Nature Park นะคะ